วสช.

วิสาหกิจชุมชน
 
วิสาหกิจชุมชน คืออะไร
คำว่า “วิสาหกิจ” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Enterprise” แปลว่า “การประกอบการ”
ส่วนคำว่า “วิสาหกิจชุมชน” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “SMCE” “Small and Micro Community Enterprise” หมายถึงการประกอบการโดยกลุ่มหนึ่งหรือองค์กรในชุมชน เพื่อจัดการทุนในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืน ยังประโยชน์ให้ชุมชนเป็นเจ้าของวิสาหกิจ โดยมีพี่เลี้ยงช่วยส่งเสริม สนับสนุน การจัดกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการผลิตการบริหารการจัดการ การตลาด และการเพิ่มมูลค่าผลผลิต มีการเชื่อมโยงกับชุมชนอื่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาสู่การพึ่งตนเองได้

วิสาหกิจชุมชน มีลักษณะสำคัญ 7 อย่าง คือ
1. ชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ วิสาหกิจชุมชนจะต้องมีฐานการเริ่มต้นและการดำเนินงานอยู่ที่ชุมชน โดยครอบครัวและชุมชนเป็นหน่วยผลิตที่สร้างผลผลิตจริงของระบบเศรษฐกิจ
2. ผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน ผลผลิตของรัฐวิสาหกิจชุมชน จะต้องเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน
3. ทรัพยากรหรือวัตถุดิบมาจากชุมชนหรือจากภายนอกรัฐวิสาหกิจชุมชนจะต้องมุ่งเน้นการนำทรัพยากรหรือวัตถุดิบมาจากภายในชุมชนของตนเอง หรือเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าจากภายนอก โดยมุ่งเน้นการหมุนเวียนรายได้ให้เกิดภายในชุมชนของตนเอง
4. ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของชุมชน ผลผลิตของรัฐวิสาหกิจชุมชน อาจเกิดจากการนำวัตถุดิบหรือทรัพยากรหรือภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน พัฒนาหรือสร้างสรรค์ให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน หรือที่เราเรียกว่า “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”
5. มีฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับภูมิปัญญาสากลการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสามารถดำเนินการได้โดยการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุนธรรมชาติ ทุนวัฒนธรรมกับความเป็นสากล
6. มีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจ หัวใจหลักสำคัญของวิสาหกิจชุมชน คือ กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีอยู่ในการดำรงชีวิต คือ การช่วยให้ชุมชนค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเอง จนสามารถ “พึ่งพาตนเองได้”
7. มีการพึ่งพาตนเองของครอบครัวและชุมชนเป็นเป้าหมาย หมายถึง การทำให้พอกินพอใช้ในครอบครัวชุมชน และเครือข่ายซึ่งร่วมกันเรียนรู้ ร่วมกันจัดการ ร่วมผลิต และร่วมกันบริโภค

     
นโยบายกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน
กระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคน ได้กำหนดความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ในการมุ่งเน้นการพัฒนาสังคมและชุมชนไว้ดังนี้ “การจัดการศึกษาต้องให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข” และ “กระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง
ส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้อันเป็นสากลตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน
เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษา อบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยาการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน”

นโยบายและเป้าหมายการจัดการศึกษาของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน
จากสาระสำคัญดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนจึงได้กำหนดนโยบายและเป้าหมายในการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายประชาชน
ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืนไว้ดังนี้
วิสัยทัศน์ : สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนจัดการศึกษาสำหรับประชาชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียนให้ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง และได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ
พันธกิจ : เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ดังกล่าว สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนได้กำหนดพันธกิจดังนี้
1. จัดการศึกษาพื้นฐาน
2. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ
3. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
4. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน
ในที่นี้จะมุ่งเน้นเฉพาะพันธกิจด้านการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนเท่านั้น

หน้าหลัก